ผู้เขียน หัวข้อ: ที่ทำงานที่เป็นทั้งความฝันและครอบครัวใน Tokyo Toy Box และ Giga Tokyo Toy box  (อ่าน 3511 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ bluewhale

  • TG Reporter
  • ลองพ่นแอร์บรัช
  • *
  • กระทู้: 599
  • Like: 42
พิมพ์ครั้งแรกในบล็อกผม http://bluewhaleguild.exteen.com/20111204/...a-tokyo-toy-box

หากต้องตัดสินใจเลือกระหว่างความฝันและความเป็นจริง ในการ์ตูนญี่ปุ่นจำนวนมากที่ผมได้อ่านผ่านตา พวกเขาจะบอกให้ "ทำตามความฝัน" "ไขว่คว้าความฝัน" ไม่ว่าสิ่งที่ฝันนั้นจะยิ่งใหญ่สักเพียงไร เช่น การได้แข่งเบสบอลที่โคชิเอ็ง การปกป้องคนที่ตัวเองรัก การทำอาหารที่อร่อยที่สุด ฯลฯ

แต่เมื่อพลิกปิดหนังสือการ์ตูน แล้วกลับมาอยู่ใน "โลกแห่งความเป็นจริง" การเลือกระหว่างความฝันและความเป็นจริง หลายครั้งก็ไม่ได้ง่ายเช่นนั้น หลายครั้งที่ "ความเป็นจริง" ที่เราเรียก ก็กลับกลายเป็น "ความฝัน" อีกฝันหนึ่ง จึงเกิดการต้องเลือกระหว่างความฝันเดิม กับความฝันใหม่ ที่อาจจะมีเพื่อนร่วมฝันเข้ามาร่วมเลือก  ยังไม่ต้องพูดถึง "ความเป็นจริง" ที่จริงยิ่งกว่า อย่างการมีชีวิตอยู่ในสังคม ที่บางชั่วขณะ เพียงเท่านั้นก็ทำให้เรารู้สึกอ่อนล้าเสียเหลือเกิน



เช่นเดียวกับ เทนคาวะ ไทโย แห่ง Studio G3 เขาก่อตั้งสตูดิโอเล็กๆ ที่มีพนักงานไม่กี่คน แต่ละคนก็เปรียบเสมือนพี่น้อง เป็นคนในครอบครัว ไม่เหมือนบริษัทผลิตเกมใหญ่ๆ บรรยากาศของการทำงานจึงแตกต่างจากบริษัทเหล่านั้นที่พนักงานในสตูดิโอก็พูดคุยกันได้
อย่างสนิทสนม ไม่ค่อยมีระยะห่าง

แต่การจะพาบริษัทให้ไปรอดในธุรกิจเกมที่มีคู่แข่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Solidus (ที่อ่านแล้วทำให้คิดถึงบริษัท...) ที่เคยมีเบื้องหลังกันมาก่อน ประกอบกับ G3 ที่มีผลงานน้อย ที่ดีที่สุดมีแค่ Samurai Kitchen เกมไฟท์ติ้งเพียงเกมเดียว นอกจากนั้นเป็นการทำวิดีโอประกอบตู้ปาจิงโกะ ที่ถึงแม้จะทำเงินให้บริษัทได้บ้าง แต่ก็ไม่ได้เป็นเกมที่เป็นศักดิ์ศรี หรือเป็นผลงานสร้างชื่อให้ G3 ได้

อีกทั้งนิสัยของไทโยเอง ที่บางครั้งก็จิตตก ดื้อรั้น เอาแต่ใจ การประคับประคองบริษัทให้อยู่รอด ก็คงจะเป็นเรื่องยาก

เมื่อถึงจุดนี้ ซึกิยามะ โฮชิโนะ จึงถูกส่งมาจากสำนักงาน (สินเชื่อ?) เพื่อมากอบกู้กิจการของ G3 เธอมาด้วยภาพของธุรกิจเต็มร้อย ที่ไม่มีคำว่า "ความฝัน" อยู่ในสายตา แต่เมื่อเธอเข้ามารู้จักกับไทโยกับเพื่อนๆ ในสตูดิโอ จึงได้เข้าใจสตูดิโอ G3 มากขึ้น (รวมถึงเรื่องความรัก) แต่ก็ใช่ว่าความฝันเพียงอย่างเดียวจะจัดการทุกอย่างได้.... การรักษาสมดุลระหว่างความฝันกับความเป็นจริง จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ

อีกด้าน ความสัมพันธ์ระหว่าง G3 กับ Solidus ก็ไม่ได้เป็นแค่บริษัทยักษ์ใหญ่กับสตูดิโอเล็กๆ เท่านั้น แต่ผู้เป็นใหญ่ในบริษัททั้งสองต่างเคยเป็นเพื่อนกันมาก่อน จนกระทั่งมีความเห็นที่ไม่ลงรอย เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำให้สิ่งที่ Solidus กระทำต่อ G3 เป็นอีกอย่างที่ทำให้เรื่องนี้น่าติดตาม



ในภาคสองคือ Giga Tokyo Toy box มีตัวละครใหม่คือ นักศึกษาจบใหม่ โมโมดะ โมโมะ ที่ยังอ่อนประสบการณ์ แต่มีแรงใจดี และยังเชื่อในความฝัน จิตวิญญาณ... เมื่อได้มาทำงานจริง สิ่งที่เธอต้องประสบ คือสิ่งที่เรื่องนี้ทำให้ชัดเจนขึ้น นั่นคือการรักษาสมดุลระหว่างความฝันและความเป็นจริง ใช่เพียงความฝันและจิตวิญญาณเท่านั้น ที่จะทำให้ความฝันกลายเป็นจริงขึ้นมาได้

ส่วนตัวอ่านแล้วค่อนข้างชอบเรื่องนี้ เพราะรู้สึกว่าตัวละครแต่ละตัว ก็ไม่ได้มีด้านเดียว ไทโยก็ไม่ได้มุ่งหน้าทำตามความฝันอย่างเดียว โมโมะ ก็มีมุมร้องไห้ แม่โทรมาบ่น ซึกิยามะ ก็มีงานอดิเรกที่บอกใครไม่ได้ (แต่น่ารักนะ) เซ็นซุย แห่ง Solidus ก็ไม่ได้มุ่งหน้ากำจัด G3 แบบตัวร้ายอย่างเดียว ฯลฯ

อีกทั้ง สตูดิโอ G3 คล้ายกับที่ทำงานที่เคยทำมาหลายๆ ที่ ในด้านของความเป็นที่ทำงานแบบ "ครอบครัว" แต่ที่ทำงานแบบนี้ จะทำให้คนที่ทำงานอยู่ รู้สึกไม่ค่อยมั่นคง เนื่องจากสมดุลระหว่างความฝันและความเป็นจริง โอนเอียงไปด้านความฝัน โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ "ความเป็นจริง" มีความหมายว่า "เงิน"



Tokyo Toy Box และ Giga Tokyo Toy Box ผู้แต่ง UME สนพ. ในไทย คือ TKO